ประวัติและความสำคัญของพวงหรีดงานศพในวัฒนธรรมไทย

พวงหรีด หรือหรีด (Wreath) ในวัฒนธรรมและความเชื่อของไทย คือพวงดอกไม้ที่นิยมใช้เพื่อแสดงออกถึงความเคารพและความอาลัยต่อผู้เสียชีวิต โดยรูปทรงที่เราคุ้นตามากที่สุดคือทรงกลม ซึ่งนอกจากจะใช้เพื่อแสดงออกถึงความรักความอาลัยแล้ว การมอบหรีดที่ประกอบด้วยดอกไม้สดหลากสีสัน ยังช่วยให้บรรยากาศภายในงานศพดูมีชีวิตชีวามากขึ้น สามารถช่วยเยียวยาความรู้สึกสูญเสียและเศร้าหมองของญาติผู้เสียชีวิตได้ด้วย โดยประวัติและความเป็นมาที่น่าสนใจมีดังต่อไปนี้
พวงหรีดกับเรื่องราวความเป็นมาที่น่าสนใจ
พวงหรีดคืออะไร หรีดประกอบขึ้นจากดอกไม้ ด้วยการใช้ลวดหรือวัสดุอื่น ๆ สร้างเป็นโครงขึ้นมาก่อน จากนั้นจึงนำดอกไม้และใบไม้มาประดับตกแต่งตามโครงที่ได้สร้างไว้ โดยส่วนใหญ่จะมีทรงกลมและทรงรี โดยนิยมนำไปใช้ทั้งในงานศพ งานรื่นเริง หรืองานเฉลิมฉลองตามเทศกาลมงคลต่าง ๆ และในบางวัฒนธรรมพบว่า นำหรีดไปตกแต่งเป็นเครื่องสวมศีรษะด้วย
ซึ่งหากให้ย้อนดูประวัติกันจริง ๆ นับตั้งแต่ในอดีต หรีดไม่ได้เกิดขึ้นในประเทศไทย แต่มีต้นกำเนิดอยู่ในประเทศแถบยุโรปตอนใต้ เนื่องจากมีการขุดพบมงกุฎทอง ซึ่งสามารถตรวจสอบและสืบค้นถึงประวัติย้อนหลังไปได้ประมาณ 400 ปีก่อนคริสตกาล โดยมงกุฎนั้นมีลวดลายแกะสลักเป็นรูปดอกไม้และใบไม้สานต่อกัน เป็นมงกุฎสำหรับใช้สวมศีรษะ ด้วยเหตุนี้จึงสรุปได้ว่า หรีดได้รับความนิยมมาช้านาน และไม่ใช่สัญลักษณ์ของความสูญเสีย หรือความโศกเศร้าเท่านั้น แต่ใช้สำหรับประดับในงานเกียรติยศต่าง ๆ ด้วย
ความสำคัญของพวงหรีดงานศพที่มีอิทธิพลต่อวัฒนธรรมไทย
เหตุการณ์ที่ทำให้พวงหรีดเข้ามามีอิทธิพลและก่อเกิดเป็นวัฒนธรรมของไทย เริ่มต้นขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5 ช่วงล่าอาณานิคม ความเชื่อและอารยธรรมตะวันตกเริ่มเข้ามามีอิทธิพลต่อคนไทย โดยหลักฐานที่ปรากฏชัดคือภาพถ่ายในปี 2447 เป็นรูปพวงดอกไม้ทรงกลมคล้ายพวงหรีดงานศพในปัจจุบัน ถูกนำมาจัดวางที่งานพระเมรุของเจ้าจอมมารดาเปี่ยม หรือสมเด็จพระปิยมาวดีศรีพัชรินทรมาตา พระสนมเอกในสมัยรัชกาลที่ 4 และนับตั้งแต่นั้นมาจึงสามารถคาดการณ์ได้ว่า คนไทยจะรับเอาความเชื่อนี้มาถือปฏิบัติสืบต่อกัน จนกลายเป็นวัฒนธรรม และใช้เป็นสัญลักษณ์ที่สื่อถึงความอาลัยต่อผู้เสียชีวิต มากกว่าจะนิยมใช้สำหรับงานรื่นเริง หรืองานเฉลิมฉลอง
โดยในปัจจุบันพวงหรีดงานศพถูกพัฒนาต่อยอดไปมาก ทั้งความสวยงามจากช่างระดับมืออาชีพ ความหมายแฝงที่อยู่ในดอกไม้แต่ละชนิด ถ้อยคำแสดงความอาลัยจากผู้มอบหรีด รวมไปถึงการประดิษฐ์หรีดที่ไม่ได้ใช้วัสดุจากดอกไม้เลย เช่น หรีดที่ทำจากผ้าขนหนู หรีดที่ใช้พัดลม หรือหรีดที่ยกต้นไม้กระถางมาจัดวางกันทั้งต้น เป็นต้น
อย่างไรก็ตามสิ่งที่ทำให้พวงหรีดกลายมาเป็นวัฒนธรรมของไทย เกิดจากการผสมผสานเอาความงดงามและอ่อนช้อยของไทยเข้าไปรวมอยู่ด้วย คนไทยมีนิสัยที่รู้จักกาลเทศะจึงทำให้หรีดที่ใช้ในงานศพมีแต่ความสวยงาม และอ่อนน้อมถ่อมตน กลายเป็นเอกลักษณ์เฉพาะของไทย ที่จะสืบทอดต่อไปแม้กาลเวลาจะผ่านไปนานแค่ไหนก็ตาม

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *